ผสมเทียมในสัตว์ ดีจริงมั้ย


การผสมเทียมในสุนัขและแมว
เนื่องจากช่วงนี้คนรักหมาแมวเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้มีหลายท่านมีความสนใจที่จะทำฟาร์มสุนัขหรือแมวขายกันเยอะแยะไปหมด รวมถึงลูกเพจหมอด้วยที่อินบ๊อกมาถาม ดังนั้นวันนี้เรามาคุยเรื่องการผสมเทียมกันค่ะ
            อันดับแรก เราต้องมารู้จักคำว่าผสมเทียมกันก่อนค่ะ
การผสมเทียม คือการใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย ปล่อยน้ำเชื้อของเพศผู้เข้าในส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อทางเดินระบบสืบพันธุ์เพศเมีย เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่ของสัตว์เพศเมียและน้ำเขื้อของสัตว์เพศผู้ ดังนั้นการรีดเก็บน้ำเชื้อจึงมีความสำคัญมาก เพราะเวลาอสุจิในน้ำเชื้อถูกแสง สารเคมีและ อุณหภูมิจากภายนอกจะทำให้คุณภาพและการรอดลดลงเร็วมาก จึงต้องฉีดน้ำเชื้อให้ใกล้เวลาที่ไข่พร้อมปฏิสนธิมากที่สุด
ทำไมจึงต้องผสมเทียม
1.        ตัวผู้และตัวเมียไม่ชอบกัน ทำให้เกิดการต่อสู้กัดกัน (แต่เจ้าของดันชอบสองตัวนี้มากอยากให้ featuring อยากได้ลูกจากสองตัวนี้มาก) 
2.        ตัวผู้ช่วงตัวสั้น เมื่อกัดหนังคอแล้ว ไม่สามารถปล่อยน้ำเชื้อเข้าช่องคลอดตัวเมียได้ ซึ่งปัญหานี้มักพบในแมวค่ะ
3.        ตัวผู้และตัวเมียอยู่ไกลกัน คนละอำเภอ คนละจังหวัดโน่นเลยล่ะ คนละประเทศยังมีเลยนะ ไม่สะดวกเคลื่อนย้ายสัตว์ (ผสมเทียมคุ้มกว่าเยอะ)
4.        บางสายพันธุ์หน้าสั้น ตื่นเต้นง่ายและอากาศบ้านเราก็ร้อนมาก อาจเสียชีวิตขณะเคลื่อนย้ายได้ ดังนั้นการผสมเทียมจึงเป็นตัวเลือกที่น่าเลือกใช้ที่สุด

การผสมเทียมในสุนัข
 (ในความคิดเห็นของหมอคิดว่ายุ่งยาก เพราะหมอไม่ถนัดค่ะ เอาจริงคือต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการทำค่ะ มาฟังสาเหตุแห่งความยุ่งยากกันค่ะ)
1.        ให้เจ้าของสังเกตและจด วันแรกที่สุนัขมีอวัยวะเพศบวม หรือมีเลือดไหลจากช่องคลอด
2.        พอถึงวันที่ 3-5 ของการเป็นสัด ให้พาน้องสุนัขไปพบสัตวแพทย์แผนกสูติกรรม เพื่อตรวจยืนยันการเป็นสัดโดยใช้การป้ายเซลล์เยื่อบุช่องคลอดแล้วย้อมสีดูบนสไลด์ รวมทั้งเจาะเลือดส่งตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อเก็บเป็นข้อมูลระดับฮอร์โมนก่อนการตกไข่
3.        จากนั้น สัตวแพทย์จะนัดมาตรวจเยื่อบุช่องคลอดและฮอร์โมนซ้ำวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน
4.        นัดจนกว่าเซลล์เยื่อบุช่องคลอดและระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะใกล้เคียงวันตกไข่ที่สุด
5.        ผสมเลยจ้า...หากใช้น้ำเชื้อสด อาจใช้การผสมเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง ควรทำการผสมเทียมไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 วัน เพราะอสุจิในน้ำเชื้อแช่แข็งจะมีอัตราการรอดชีวิตและระยะเวลาการมีชีวิตลดลงหลังการละลาย
ใช้น้ำเชื้อแบบไหนดีกว่ากัน
อัตราการตั้งท้องเมื่อผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อสดคือ 84% ขณะที่ถ้าใช้น้ำเชื้อแช่แข็งมีอัตราตั้งท้องได้ 70%
การฉีดน้ำเชื้อในสุนัขเพศเมีย
1.        ไม่ใช้การผ่าตัด โดยจะใช้ท่อผสมเทียมสแกนดิเนเวียไปปล่อยน้ำเชื้อที่มดลูก
2.        ใช้การผ่าตัดจำเป็นต้องมีการวางยาสลบ เปิดผ่าช่องท้องหรือใช้กล้องส่องช่องท้อง แล้วฉีดน้ำเชื้อเข้าในปีกมดลูก
หมายเหตุ : ทั้งวิธีใช้และไม่ใช้การผ่าตัด เป็นการปล่อยน้ำเชื้อที่มดลูกเช่นเดียวกัน มีอัตราการผสมติดใกล้เคียงกัน และทั้งสองวิธีดีกว่าการปล่อยน้ำเชื้อในช่องคลอดค่ะ
อยากได้อัตราการผสมติดสูงและจำนวนลูกต่อครอกสูงทำไงดี
1.        เลือกสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง เพราะเค้าเหล่านั้นจะหาอสุจิและไข่ที่ดีที่สุด มาผสมในวันที่เหมาะสมที่สุดไงล่ะค่ะ
2.        จำนวนครั้งที่ทำการผสมเทียมก็มีผลนะ ยิ่งทำการผสมหลายครั้งก็จะเพิ่มจำนวนอสุจิ และเพิ่มโอกาสที่ไปเจอวันที่ไข่เจริญพร้อมปฏิสนธิพอดีเช่นเดียวกัน
การผสมเทียมแมว
(คิดว่าหมายากแล้ว บอกเลยในแมวนั้นยากไปอี๊กกกก)
            เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางยาสลบแมวตัวผู้เพื่อรีดเก็บน้ำเชื้อโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (เนื่องจากแมวตัวผู้จะไม่ยอมหลั่งน้ำเชื้อถ้าอยู่แปลกที่ และตัวเมียก็ต้องวางยาสบบนะเพื่อสอดท่อผสมเทียม
ในวันที่สามที่แมวตัวเมียแสดงการเป็นสัด ก็ยืนยันการเป็นสัดให้แน่ใจอีกทีโดยการตรวจเซลล์เยื่อบุช่องคลอด แล้วฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ หลังจากนั้นประมาณ 36-48 ชั่วโมง จะมีการตกไข่ที่พร้อมปฏิสนธิ ก็ทำการวางยาสลบ เพื่อทำการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อสดหรือน้ำเชื้อแช่แข็งก็ได้
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Around the pet fanpage



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม